ธุรกิจไทยกับการตลาด

เปิดประตูเศรษฐี SMEs ไทย

DSCF4042

วันนี้ (13 พย.57) ได้มีโอกาสไปฟังสัมมนา “เปิดประตูเศรษฐี SMEs ไทย” ในวาระครบรอบ 20 ปี นิตยสาร เส้นทางเศรษฐี โดยช่วงเช้า มีปาฐกถาพิเศษ จากท่านรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล โดยได้กล่าวถึงสถานการณ์ SMEs เมืองไทยที่จำเป็นจะต้องปรับตัวเข้ากับยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยรัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะส่งเสริมเรื่องของการทำศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง  (DATA CENTER) ที่เป็นประโยชน์และสนับสนุนองค์ความรู้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของ SMES ต้องขึ้นอยู่กับ “ความปราถนา” ที่อยากจะเติบโตด้วย ภาครัฐฯ มีหน้าที่ทำ “ระบบ” ที่จะทำให้โต ออกแบบให้พร้อมใช้งาน และดีที่สุดของการเติบโตก็คือ “ควรเริ่มต้นทีละก้าว” โดยก้าวแรกควรสะสมความรู้จนเข้าใจทางเดิน ก้าวที่สองก็ต้องลองเดินเข้าไป ถ้าได้ผลก็ค่อยต่อยอดขยายกิจการเป็นก้าวที่สาม ซึ่งถ้าจำเป็นต้องการเงินทุนก็จะทำให้กู้ง่ายขึ้นด้วยเพราะมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน

DSCF4022

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรี ได้อ้างอิงถึงเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ว่าธุรกิจจะโตต้องให้ความสำคัญกับ ปัจจัย 4 ประการดังต่อไปนี้

1. ลูกน้อง ต้องได้รับผลตอบแทนพอสมควรกับสิ่งที่เขาทำให้กับเรา

2.ลูกค้า ต้องหาวิธีสร้างความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพสินค้า หรือราคาที่เขาต้องรู้สึก “คุ้มค่า” กับสิ่งที่ต้องจ่าย

3. สังคมและสิ่งแวดล้อม องค์กรธุรกิจควรให้ความสำคัญกับชุมชนที่ตั้งอยู่ ยกตัวอย่าง ธุรกิจรายหนึ่งที่ลำปาง เมื่อเห็นว่าเด็กขาดแคลนโรงเรียน เขาเอางบประมาณมาจ้างครู ทำโรงเรียนเปิดสอนในชุมชน เป็น SMEs ที่สร้างความสุขดีกว่า เติบโตอยู่คนเดียว

4. ไม่เอาเปรียบตัวเอง ต้องทำให้ตัวเองอยู่ได้ด้วย ทั้งสี่อย่างเหล่านี้ อ.คึกฤทธิ์ ปราโมชใช้สามคำว่า “ไม่เบียดเบียน” (ลูกน้อง, ลูกค้า,สังคม,ตัวเอง)

ปิดท้าย ม.ร.ว.ปริดิยาธร บอกว่า SMEs ที่ทำให้ลูกค้ารัก จะเติบโตเอง ในส่วนของรัฐบาลทำหน้าที่เพียงส่งเสริมระบบไอทีให้พวกเขาเลือกใช้เท่านั้น…

DSCF4053

ต่อมาเป็นการเสวนา “SMEs กับความมั่นคงรากฐานเศรษฐกิจไทย” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), คุณอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคุณสุพันธุุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

DSCF4049

คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ อธิบายถึงแนวทางการเริ่มต้นธุรกิจ SMEs ก่อนว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีความถนัด ความสามารถในการจัดการเริ่องของต้นทุน, คุณภาพ และบริการ เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเขียนเป็นแผนธุรกิจให้ชัดเจน ประการสุดท้ายต้องมี “วินัย” ทางด้านการเงิน

“ทุกวันนี้ โจทย์ของ SMEs ยากกว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อนมาก สมัยก่อนราคายางตันละร้อยกว่าบาท, มีประชานิยม เดี๋ยวนี้ราคายางร่วงเหลือไม่ถึงห้าสิบบาท แถมหนี้ครัวเรือนที่พอกมาอีก ดังนั้น ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการปรับตัวไปสู่เรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประการที่สองคือนำคู่แข่งขันมาร่วมมือสร้างเป็นคลัสเตอร์ให้ได้ ช่วยกันหาลูกค้าเพิ่มรายได้ หรือรวมกันซื้อวัตถุดิบเพื่อลดรายจ่าย ประการที่สาม เรื่องการจัดการคน ผู้บริหารหลายคนอายุมากอาจมีปัญหาเรื่องพวกนี้ บางธุรกิจที่มีทายาทรับช่วงต่อได้ก็จะเกิดปัญหาน้อย เพราะคนที่มีอายุแล้วอาจคิดว่ามีความสุขกับการไม่ขยาย (กิจการ) ถ้าขยายแล้วอาจเดือดร้อน สุดท้ายคือเรื่องของการตลาด ที่จะต้องปรับให้เข้ากับความถนัดและลักษณะของกิจการตัวเอง”

DSCF4093

ด้านคุณอาทิตย์ วุฒิคะโร  อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าตนคลุกคลีกับ SMEs มาเกือบสามสิบปี จนรวบรวมคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ดีได้ถึง 19 ข้อ  (ขอย่อเหลือ 5นะ)

1. ต้องมีความกล้าเสี่ยงในระดับปานกลาง

2. ความมุ่งหมายกระหายความสำเร็จ

3. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

4.ความผูกพันต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้

5.ความสามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้อื่น ฯลฯ

DSCF4075

ผู้ประกอบการ SMEs ควรวิเคราะห์บุคลิกของตัวเองให้ได้ว่าอะไรมีมากหรือน้อย สิ่งที่มีมากก็ต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ สิ่งไหนมีน้อยหรือขาดไป (แต่ต้องมี) ก็ควรจะแสวงหามาเติม ซึ่งในส่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีหลายโครงการที่จะสนับสนุนที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และค่าใช้จ่ายบางส่วนให้อยู่แล้ว

DSCF4102

ด้านสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อธิบายปัญหาของ SMEs ว่าหลักๆ คงไม่พ้นเรื่องของการตลาด ทำอย่างไรจึงจะขายของได้ ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมได้มีการขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น ธนาคาร จัดบู๊ทเพื่อเป็นช่องทางจำหน่าย หรือในยุคที่ไอทีเป็นสิ่งจำเป็นก็มีการสนับสนุนเรื่องของอีคอมเมิร์ช ให้กับสมาชิกอยู่แล้ว อีกเรื่องคือ “ต้นทุน” ที่ต้องบริหารจัดการให้ได้ โดยเฉพาะเรื่อง “ค่าแรง 300 บาท” ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจเล็กๆ

“เรื่องของธุรกิจบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับ จังหวะและโอกาส สิ่งสำคัญคือวิธีคิดของผู้ประกอบการ อย่างธุรกิจประเภทSunrise (ดาวรุ่ง) คนมักแห่ทำตามๆกัน แข่งขันกันสูง อาจจะเจ๊งก็ได้ ในทางตรงข้าม ธุรกิจประเภท Sunset (ดาวร่วง) มีคู่แข่งน้อยกว่า อาจจะกลายเป็นเจ้าตลาดมีรายได้มากกว่าก็ได้ยกตัวอย่างเครื่องพิมพ์แบบดอท ที่ตอนนี้เหลืออยู่เจ้าเดียวแล้ว เป็นต้น”

นอกจากนี้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ หน่วยงานรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนมากกว่านี้ ดูอย่าง อิสราเอล แทบไม่รู้ว่าเขาขายสินค้าอะไร เพราะเขาขาย IP หรือสิทธิบัตรให้ประเทศอื่นๆ ไปผลิตเป็นของ ถ้าลองอิสราเอลผลิตสินค้าเอง มีอาหรับในโลกเป็นพันล้่าน….ใครจะซื้อ !?

ใส่ความเห็น